วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คุณลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุ

คุณลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ ที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน และได้รับการยอมรับจากพุทธศาสนิกชนและพระภิกษุสงฆ์โดยทั่วไป พบว่ามีลักษณะที่มองจากภายนอกคร่าวๆได้ดังนี้
- มีด้วยกันหลายสี ตั้งแต่ใสดั่งแก้วจนกระทั่งขุ่น สีขาวดุจสีสังข์ สีทอง สีดำ สีชมพู สีแดง ฯลฯ
- มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ลักษณะเมล็ดข้าวสาร พันธุ์ผักกาด เมล็ดถั่วแตก แก้วใส ฯลฯ
- หากมีขนาดเล็กมักสามารถลอยน้ำได้ เมื่อลอยด้วยกันจะสามารถดึงดูดเข้าหากันได้ และลอยติดกันเป็นแพ
- สามารถเสด็จมาเพิ่มจำนวนขึ้นหรือลดลงได้เอง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของพระธาตุ
- เปลี่ยนขนาดและสีสันเองได้
- ส่วนมากมักมีน้ำหนักค่อนข้างเบา เมื่อเทียบกับขนาด
พระบรมสารีริกธาตุลักษณะต่างๆ
คัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ซึ่งเป็นอรรถกถาอธิบายความพระสูตรทีฆนิกาย ในพระสุตตันตปิฎกนั้น พระอรรถกถาจารย์ได้แบ่งลักษณะของพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
1.นวิปฺปกิณฺณา ธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ยังคงรูปร่างเดิมอยู่เป็นชิ้นเป็นอัน มิได้แตกย่อยลงไป มีทั้งหมด 7 องค์ ได้แก่ พระนลาฏ (กระดูกหน้าผาก) 1องค์ พระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ และพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) 2 องค์
2.วิปฺปกิณฺณา ธาตุ คือ พระบรมสารีริกธาตุส่วนต่างๆขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มิได้คงรูปร่างอยู่เป็นชิ้น แต่แตกย่อยลงเป็นเป็นจำนวนมาก กระจายไปประดิษฐานตามสถานที่ต่างๆ
(สี)เหมือนจุณ หรือ ผงทองคำ (สีทองอุไร) [อรรถกถาบาลีว่า สุวณฺณจุณฺณา] ท่านว่าพระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ ตวงได้ 5 ทะนาน
และเมื่อพิจารณาจากขนาด ท่านแบ่งได้เป็น 3 ขนาด ได้แก่

1.ขนาดเล็ก ประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด
[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า สพฺพขุทฺทกา ธาตุ สาสปวีชมตฺตา] บางท่านก็เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุลักษณะเมล็ดพันธุ์ผักกาด
*บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งมะลิตูม
2.ขนาดเขื่อง คือมีขนาดใหญ่ขึ้นมา ประมาณเมล็ดข้าวสารหักกึ่ง
[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า มหาธาตุ มชฺเฌ ภินฺนตณฺฑุลมตฺตา] บางท่านก็เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุลักษณะข้าวสาร
*บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งแก้วมุกดา
3.ขนาดใหญ่ คือมีขนาดใหญ่ที่สุด ประมาณเมล็ดถั่วเขียวผ่ากลาง
[อรรถกถาบาลีอธิบายว่า อติมหตี มชฺเฌ ภินฺนมุคฺคามตฺตา] บางท่านก็เรียกว่า พระบรมสารีริกธาตุลักษณะเมล็ดถั่ว
*บางตำราระบุว่าพระบรมสารีริกธาตุขนาดนี้จะมีสีดั่งทองอุไร

*หมายเหตุ บางตำราที่ระบุขนาด ได้แก่ คำนมัสการพระบรมสารีริกธาตุของโบราณ; ตำนานพระเจ้าเลียบโลก
เกร็ดความรู้ว่าด้วยสีพระบรมสารีริกธาตุ
ในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินีกล่าวถึง สีของพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด 3 สี ได้แก่ สีดอกมะลิตูม สีแก้วมุกดา และสีผงทองคำ ทั้งนี้ สีดอกมะลิตูมและสีผงทองคำนั้น สามารถพบเห็นและเปรียบเทียบได้ง่าย แต่สีแก้วมุกดานั้น ชวนให้สงสัยว่าจะเป็นสีอย่างไร
คำว่า มุกดา นั้นมาจากภาษาบาลีว่า มุตฺตา โดยพจนานุกรมได้ให้ความหมายของคำว่า "มุกดา" คือ ไข่มุก, ชื่อรัตนะอย่างหนึ่งในพวกนพรัตน์ สีหมอกอ่อนๆ ซึ่งรัตนะในความหมายหลังมีผู้จำแนกไว้ว่าคือ moonstone (แต่บางท่านก็ว่า มุกดา ในนพรัตน์ของไทยนั้นคือ แก้วใสสีขาว ไม่ใช่ moonstone) ซึ่งหากในความหมายนี้หมายถึงแก้วใสสีขาว หรือ moonstone แล้ว พระบรมสารีริกธาตุสีนี้ จะสามารถพบเห็นได้ทั่วไปเป็นจำนวนมาก แต่หากหมายถึงไข่มุกแล้ว พระบรมสารีริกธาตุ ที่มีลักษณะสีเหลือบแบบไข่มุกนั้น จะพบเห็นได้ค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากคำว่า "แก้วมุกดาที่เจียระไนแล้ว" ในอรรถกถา เป็นไปได้ว่า มุกดา ในที่นี้อาจจะไม่ได้หมายถึงไข่มุก เนื่องจากมีคำว่าเจียระไนเข้ามาประกอบ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้คำนี้จะหมายถึงไข่มุก พระบรมสารีริกธาตุที่มีสีในเฉดขาว-เทาไข่มุกทั้งหมด ก็อาจนับอยู่ในกลุ่มสีแก้วมุกดาได้ เช่นเดียวกับพระบรมสารีริกธาตุลักษณะสีทองอุไร ที่นับเอาพระบรมสารีริกธาตุที่มีสีเฉดเหลืองทั้งหมดเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้
พระธาตุลอยน้ำ
ตามโบราณาจารย์ต่างๆท่านกล่าวว่า พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุที่มีขนาดไม่ใหญ่นักนั้น สามารถที่จะลอยน้ำได้ ส่วนการลอยน้ำของพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุนั้น จะลอยน้ำโดยที่น้ำจะเป็นแอ่งบุ๋มลงไปรองรับพระบรมสารีริกธาตุไว้ นอกจากนี้อาจปรากฏรัศมีของน้ำรอบๆพระบรมสารีริกธาตุอีกด้วย ทั้งนี้หากทำการลอยพร้อมๆกันหลายๆองค์ พระบรมสารีริกธาตุจะค่อยๆลอยเข้าหากันและติดกันในที่สุด ไม่ว่าจะลอยห่างกันสักเพียงใด
นี่เองจึงเป็นเหตุให้มีผู้กล่าวว่า หากมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใดแล้ว หากมีการถวายความเคารพเป็นอย่างดีและเหมาะสมแล้ว ท่านก็สามารถที่จะดึงดูดองค์อื่นๆให้เสด็จมาประทับรวมกันได้

หลวงพ่อพัฒน์

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ความหมายของคำว่าพระบรมสารีริกธาตุ

"พระบรมสารีริกธาตุ" คือ พระธาตุส่วนย่อยที่บังเกิดแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเฉพาะ มิได้เป็นคำที่ใช้เรียก พระธาตุของพระอรหันตสาวก หรือพระธาตุเจดีย์ต่างๆ (บางทีเรียกว่า"พระบรมธาตุ" หรือ "พระสารีริกธาตุ" ก็ได้)

"พระธาตุ" คือ กระดูก หรือ ส่วนของร่างกายต่างๆ เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โลหิต ฯลฯ ที่มีคุณลักษณะเป็นที่แตกต่างจากสามัญชนทั่วไป โดยมีลักษณะคล้าย ' ธาตุ ' ซึ่งหากมองโดย ไม่สังเกตให้ดีแล้ว ก็คล้าย กรวด หิน แก้ว เพชร ฯลฯ

คำว่า พระบรมธาตุ และ พระธาตุ ยังอาจหมายถึงสถูปเจดีย์ต่างๆได้อีกด้วย เช่น พระบรมธาตุไชยา พระธาตุดอยสุเทพ พระธาตุพนม ฯลฯ

ประเภทของพระบรมสารีริกธาตุ
เนื่องจากพระบรมสารีริกธาตุที่พบนั้น มีความแตกต่างจากอัฐิของบุคคลธรรมดาทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามยังพบลักษณะของ พระบรมสารีริกธาตุที่มีลักษณะเหมือนกระดูกคนเช่นกัน เท่าที่พบเห็นได้ตามพระธาตุเจดีย์ทั่วไป หรือตามพิพิธภัณฑสถานต่างๆทั้งในประเทศไทย ศรีลังกา อินเดีย และ ที่ต่างๆ ทั่วโลก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ 'พระธาตุ'

พระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ จะพบมากในประเทศไทย ศรีลังกา จีน พม่า ฯลฯ มีลักษณะตรงตามพระไตรปิฎก ในประเทศไทยมีประดิษฐานอยู่ที่เจดีย์พระธาตุ ตามวัดต่างๆทั่วไป พระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะ 'กระดูกคน'

พระบรมสารีริกธาตุลักษณะนี้ จะพบเฉพาะในประเทศอินเดีย ตามโบราณสถานต่างๆ ที่ขุดค้น สำหรับในประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษได้มอบให้แก่ประเทศไทย 2 ครั้ง ครั้งแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานอยู่ ณ เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และครั้งที่ 2 รัฐบาลได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน
ที่มา:http://www.chiangraifocus.com/knowledge.php?id=16